Tuesday 28 February 2012

Seed stitch no.3 : standby /เตรียมตัว

                                                                        lazy daisy


                                French knot & Chinese knot  สปอร์แห่งเมล็กพันธ์ของการปัก


เมื่อแรกเจอกัน ก่อนจะเข้าบทเรียนว่าด้วยการปัก ครูตุ๊กก็ทำตัวคล้ายเป็นหน้าหนังสือ
ที่ต้องมีคำนำเสียก่อน  เธอเล่าชิีวิตคร่าว ๆ  แม่ของเธอทำงานอยู่ในวงการปัก
จักรอุตสาหกรรมอยู่แล้ว  แน่นอนเธอย่อมเชี่ยวเรื่องนี้ดีกว่าใคร  แต่เธอไม่ได้ปลื้มอะไร
กับมันนักหรอก   ธรรมดา คนเรามักไม่ชอบกิจการของครอบครัวเป็นเบื้องต้น
แล้วจะด้วยเหตุผลของแม่ หรืออะไรซักอย่าง (เธอไม่ได้เล่า) เธอก็ข้ามไปเรื่อง
เรียนตัดเย็บ ที่ออสเตรเลีย  4 ปี และเฉพาะเรื่องการปัก ใช้เวลาเรียนถึง 4 เดือน

ไม่แปลกใจเลย ที่เธอจะจดจำชื่อ การเดินเส้นลายปักได้มากมาย และอย่างแม่นยำ
รวมไปถึงตระกูลของลาย ที่แตกแขนงไปคล้ายวงของพืชพรรณ ที่เพียงแค่ได้เห็นก็รู้ว่า
นี่เขาใช้ลายอะไร   ทุกงานปัก ล้วนมีที่มา  มีชาติตระกูล ไม่ได้ปักสุ่มสี่สุ่มห้า
ด้นสด คิดเอง อย่างที่ฉันเข้าใจ ไม่ว่าคุณจะปักอะไรลงไป  ล้วนมีคนตั้งชื่อมันไว้แล้ว

และก่อนที่ใครจะสงสัยอะไร เกี่ยวกับเนื้อตัวเธอ มากไปกว่านี้
เธอก็ชิงเล่าเสียก่อนว่า เป็นลูคีเมีย กำลังรักษาตัว ผลของคีโม ทำให้สาวหมวย
ตัวเล็ก หน้าตาน่ารัก เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง  ไม่มีเพื่อนคนไหนจำเธอได้
หน้าเธอเปลี่ยนทรง สีผิวดำสนิท  หนักไปทางกระดำกระด่าง
ผิวก็ดูเป็นโรคผิวหนังอย่างรุนแรง มันถลอก ไหม้ เยิน
ไปนั่งจ่อมตรงไหน ก็มักจะมีคนมอง ถึงขั้นมาถามว่าเป็นอะไรก็มี

คีโมยังทำให้ตาเธอเกือบบอดมองไม่เห็น แขนขาอ่อนแรง เธอเป็นหนัก จนไม่คิดว่าจะรอด
เงินที่สะสมมาทั้งชีวิต ก็หมดไปกับการรักษาโรค จนหมดตัว  เมื่อหมดตัวเธอก็เลิกรักษา
เธอว่า ตอนนี้เธอใช้ใจรักษาตัว  ปลดปลง เมื่อไม่มีคนรอบข้างให้ห่วง
พ่อแม่เสียหมดแล้ว ไม่มีสามี ไม่มีลูก เธอก็ไม่มีห่วง ตัวเธอพร้อมจะไปได้ตลอดเวลา
แต่ไม่ใช่อย่างสิ้นหวังกับชีวิต

ตอนนี้เธอก็ได้แต่รักษาตัวไปตามอาการ แม้จะอยู่ในกรณีศึกษาของศิริราช
ก็ยังต้องใช้เงิน  พออาการทุเลา ให้พอมีแรงลุกขึ้นมาทำอะไรได้บ้าง
เธอก็ลุกขึ้นมาทำงานหาเงินเลี้ยงตัว  โชคดีที่เธอยังมีวิชาปักผ้าติดตัว
อาชีพที่ไม่ต้องใช้หน้าตา  และยังได้ถ่ายทอดวิชา  ที่อุตส่าห์ไปเสียเงินร่ำเรียนมา
ให้ตกทอดไปถึงมือคนอื่น ๆ  ได้ด้วย สำหรับคนที่มีใจรัก
ไม่อยากให้มันตายไปพร้อมกับตัวเธอ

นอกจากปักเสื้อ ปักโน่นนี่ขายที่ร้านประจำที่สวน เธอก็สอนไปด้วย
พร้อมความตั้งใจอย่างแรง  ที่จะทำหนังสือ how to
แต่ด้วยเพราะรู้มาก ข้อมูลเยอะ เพอร์เฟ็คจัด
หนังสือเธอถึงไม่ได้พิมพ์เสียที  มัวแต่จัดต้นฉบับ ดึงเข้าดึงออกมาหลายปี  

ตอนที่กลับจากออสเตรเลีย เธอทำอะไรหลายอย่าง ทั้งงานประจำ ทั้งธุรกิจส่วนตัว
ที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องปัก  เธอก็เหมือนคนเมืองร่าเริงทั่วไป ที่วิ่งเร่าไปตามสิ่งเร้า
เที่ยว นอนดึก พักผ่อนน้อย ทำงานหนัก  และใจที่มีแต่วิ่งเร็วจี๋ไปข้างหน้า  วันแล้ววันเล่า

ทุกวันนี้เธอกลับรู้สึกขอบคุณโรคร้ายของเธอ ที่ทำให้เกือบตาย และหมดตัว
ทำให้เธอได้คิด ได้หยุดชีวิต ที่โหมกระหน่ำใช้มันอย่างสิ้นเปลืองและบอบช้ำก่อนหน้านั้น
หันมานิ่ง พิจารณา และกลับมาหางานปัก


บ่ายวันเสาร์ ระหว่างที่เรา coffee break กัน  ครูตุ๊กเปรยว่า คงต้องรีบทำหนังสือ
กลัวว่าจะไม่ได้อยู่ถึงปีหน้า ทุกคนทำหน้าเหวอ...
เธอว่า อาทิตย์ที่แล้ว  หลับไป 2 วัน นัดคนไว้ก็ไม่ตื่น
เธอกลัว  วันใดวันหนึ่ง เธออาจจะไม่ได้ตื่นขึ้นมาอีก และมันก็เป็นไปได้มาก
ร่างกายเธออ่อนแอเต็มที
แต่เท่าที่เห็น เธอขยันทำงานปักตลอดเวลา เหมือนคนมีแรงมาก
หายใจออกมาเป็นลายปัก  เล่าเรื่องอ่อนหวานลงบนผ้า ชิ้นแล้วชิ้นเล่า

ได้ฟังเรื่องของครูตุ๊กมากเท่าไร ฉันก็ซาบซึ้งกับงานปักผ้าตามเธอไปมากเท่านั้น
ยิ่งได้ลงมือทำเอง ก็ยิ่งเห็นคุณค่าว่ามันไม่ง่าย ต้องใช้ทักษะ ฝีมือ
ฝีเข็มที่ละเอียดเป็นระเบียบ อยากจะเรียกมันว่าศิลปะชั้นสูงเสียด้วยซ้ำ

มันแก้เลี่ยนได้ดีนัก ในยุคดิจิ  ที่อะไรก็ปรู๊ดปราด เริ่มง่าย จบง่าย ได้ง่ายเบื่อเร็ว
เหมือนภาพถ่ายสวย ๆ ซักภาพ ใคร ๆ ก็ทำได้แค่ปลายนิ้ว และ application

แต่ไหนเลยจะได้ความรู้สึกอิ่มใจ เหมือนตอนนั่งปักผ้า เห็นฝีเข็มค่อย ๆ เรียงตัว
เป็นลาย เป็นดอก เป็นเรื่องเป็นราว และเรื่องเล่า คำสนทนาอ่อนโยน ในหมู่นักปักมือ

รู้สึกดีจริง ๆ ที่โชคชะตาพัดพาให้มารู้จักกับครูตุ๊ก  นอกจากได้วิชาปักผ้ากลับมาแล้ว
ก็ยังได้วิชาชีวิต  ที่ไม่ต้องลงทุนไปเรียนรู้ด้วยตัวเอง

ทุกวันนี้เธออยู่อย่างสงบ เตรียมพร้อมสำหรับการเดินทางไปสู่โลกใหม่ ด้วยใจที่เป็นสุข
ฉันเชื่ออย่างที่เธอพูด  เธอพูดไปยิ้มไปเสมอ คนที่มีความสุขจากข้างในมักเป็นอย่างนั้น


2 comments:

  1. https://www.facebook.com/#!/handembroider
    facebook ของครูตุ๊กนะคะ

    ReplyDelete
  2. อ่านแล้วอิน

    ReplyDelete